เรื่องน่าสนใจขณะนี้คือการฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 6
หลังฉีด Sinovac 2 เข็ม AstraZeneca 2 เข็ม Pfizer 1 เข็ม แล้ว
ทำไมถึงฉีด Pfizer อีก 1 เข็ม
เราต้องรู้อะไรจากการฉีดเข็มที่ 6
ย้อนกลับไปดูสถานการณ์โควิดของโลกในขณะนี้ จะเห็นได้ว่า Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.5 และ BA.4 กำลังเพิ่มจำนวนในหลายประเทศ ซึ่งลดการตรวจและการรายงานลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะนโยบายอยู่กับโควิดแบบเปิด เหมือนไม่กลัวอีกต่อไป
ในสหรัฐอเมริกา BA.5 และ BA.4 ครอบคลุม 21 % ของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่แล้ว ขณะที่ BA.2 และ BA.2.12.1 สัดส่วนกำลังลดลง และจำนวนป่วยทั้งหมดต่อวันยังเกิน 100,000 คนต่อวันอยู่ แม้จำนวนรับไว้ในโรงพยาบาลก็ยังเพิ่มขึ้น สถานการณ์ในอังกฤษก็พบว่า จำนวนป่วยต่อวันเริ่มเพิ่มขึ้นถึง 10% แล้ว รวมทั้งจำนวนรับไว้ในโรงพยาบาล ขณะที่ในโปรตุเกส สัดส่วนของ BA.5 เกิน 80% จำนวนผู้ป่วย จำนวนรับไว้ในโรงพยาบาล และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทั้งหมด ทำให้ประเทศ EU เริ่มติดตามและเตรียมทบทวนมาตรการรองรับ BA.4, BA.5 ซึ่งแพร่กระจายเร็วกว่า มากกว่า และดูเหมือนหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าอีกด้วย
ดังนั้นคำแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีนของ CDC US ซึ่งแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 คือการกระตุ้นเข็มที่สอง ในกลุ่มอายุเกิน 50 ปี รวมทั้งกลุ่มที่เจ็บป่วยหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
ในคำแนะนำดังกล่าว วัคซีน J&J ซึ่งเป็น Vector Vaccine เช่นเดียวกับ AstraZeneca แต่ฉีดเพียงเข็มเดียวก็ถือว่าครบโดสนั้น หากกระตุ้นเข็ม ด้วย J&J ถือว่าไม่ได้รับการกระตุ้น ต้องกระตุ้นด้วย mRNA เท่านั้นจึงถือว่าได้รับการกระตุ้น ย้อนกลับไปดูวัคซีนกระตุ้นที่ WHO รับรองก็เช่นกัน เป็น mRNA เท่านั้น
ดังนั้นประวัติฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็ม AstraZeneca 2 เข็ม นั้นจึงถือว่ายังไม่ได้กระตุ้นตาม CDC, WHO แนะนำ จึงต้องฉีด Pfizer ตามมาอีก 1 เข็ม เป็นกระตุ้นเข็มแรก
และเมื่ออายุเกิน 50 ปี หรือเป็นโรคที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงต้องฉีดกระตุ้นเข็มที่สอง ตามคำแนะนำของ CDC, WHO จึงกลายเป็นที่มาของ Pfizer เข็มที่ 6
การฉีดเข็มที่ 6 จึงน่าจะเป็นการส่งสัญญาณ 2 อย่าง คือ
1 ระวังสายพันธุ์ย่อยที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าเดิมและหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันดีกว่าเดิมกำลังระบาดแล้ว
2 วัคซีนที่เคยฉีดมาทั้งหมด อาจไม่พอ สำหรับสายพันธุ์ย่อยใหม่แล้ว
แล้วจะทำยังไงกันดีล่ะ