วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

หวัดมรณะ นิยายใกล้จบ

เหตุการณ์จากข่าว เอกสารวิชาการ ถูกนำมาตัดต่อดัดแปลงสร้างจินตนาการ กลายเป็นเหตุการณ์เสมือนจริงที่ใช้เวลาเขียนเกิน 10 ปี (ไม่อยากจะสารภาพเลยว่าเขียนนานเพราะทำ account หาย) ให้สาวน้อยเอ็นจีโอ และหมอระบาดวิทยา คู่หนุ่มสาวที่มั่นคงต่ออุดมคติและบ้างานสุด ๆ มาร่วมโรแมนติกและดรามาระหว่างผจญภัยกับการสืบสวนโรคและแผนการร้ายสุดซับซ้อน จนใครก็เดาตอนจบไม่ถูก

ไม่ย้อนอดีต ไม่มีจินตนาการไซไฟ ไม่มี Yaoi ไม่มีฮาเร็ม ไม่มีนางร้ายกลับเข้าไปในนิยายเพื่อกลายพันธุ์เป็นนางเอก 

เรื่องนี้จริงจัง เนื้อหาหนักแน่น เชิงอรรถเต็ม ให้กำลังใจสู้ปัญหาใหญ่ และ โรแมนติกดรามาซีเรียส ขอบอก 

คำนำของเรื่อง

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ กำลังกระจายไปทั่วโลก เชื้อมาจากไหน
เรื่องราวการผจญภัยของเอ็นจีโอสาว ผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ และหมอหนุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา กับเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดคิด ตั้งแต่หวัด 2009 จนถึงโควิด-19

คลิกอ่าน หวัดมรณะที่ readAwrite   หวัดมรณะที่ Fictionlog  หวัดมรณะที่ Dek-d


 

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

จุ๊ จุ๊ อย่าบอกใคร ตัวเลขจริง...เสียชีวิตจากโควิด

     องค์การอนามัยโลกบอกว่าคนเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ระหว่าง 2020-2021 จริง ๆ แล้วเกือบ 15 ล้านคน ทำให้การเสียชีวิตทั้งหมดสูงเกินกว่าที่ควรเป็นถึง 13% ในช่วง 2 ปีแรกของการระบาด และตัวเลขเสียชีวิตที่ประเทศต่าง ๆ รายงาน 2020-2021 รวม 5.4 ล้านคนนั้น ต่ำกว่าความเป็นจริง อินเดียจริง ๆ แล้วมีผู้เสียชีวิตจากโควิดถึง 4.7 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขทางการถึง 10 เท่า

    ข้อมูลนับจาก การเสียชีวิตส่วนเกิน ซึ่งหมายถึง จำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าปกติในพื้นที่เดียวกัน ก่อนการระบาดควรมีเท่าไรที่เป็นปกติ ถ้าเสียชีวิตมากกว่านั้นก็คือเสียชีวิตส่วนเกิน จริง ๆ แล้วส่วนหนึ่งตายจากโควิดตรง ๆ อีกส่วนตายเพราะผลกระทบจากโควิด หรือตายจากโควิดอ้อม ๆ เช่นอดตาย ฆ่าตัวตาย เข้าโรงพยาบาลไปรักษามะเร็งไม่ได้ เพราะไม่มีเตียง เป็นต้น  

    นอกจากนี้ยังรวมพวกตายจากโควิดตรง ๆ แต่กลัวตัวเลขสูงเกิน จึงดัดจริต เปลี่ยนนิยาม ตั้งชื่อใหม่เรียก ตายร่วมกับโควิด คือเป็นโรคอื่นแล้วตรวจพบโควิดตอนตายด้วย ก็อ้างว่าไม่ได้ตายจากโควิดตรง ๆ แล้วยังรวมพวกที่จะตายอยู่แล้วก็ยังไม่ยอมตรวจหาเชื้อ เพราะกลัวตัวเลขสูงเกิน หรือกลัวเก็บเงินค่าตรวจไม่ได้ เลยกลายเป็นติดเชื้อไวรัสตาย หรือปอดบวมตาย

     มาดูอาเซียนกันบ้าง อินโดนีเซีย รายงานว่าตายเท่าไร ของจริงให้คูณ 7.1  ฟิลิปปินส์ รายงานตายเท่าไรให้คูณ 3.6 

    เอาละ คงสงสัยละสิ ว่าบ้านเราตัวเลขเป็นไง 

    อัตราตายส่วนเกินของเรา เคยสูงที่สุดเมื่อเดือน สิงหาคม 2564 ช่วงสูงสุดของ Delta สูงกว่าปกติ 37% คิดเป็นจำนวนตายเกินปกติ มากกว่า 15000 คน ในเดือนเดียว รองลงมาคือเดือนมีนาคม และเมษายน 2565 ช่วงโอมิครอน สูงกว่าปกติ 25 และ 21%  คิดเป็นจำนวนตายเกินปกติ มากกว่า 10000 คนต่อเดือน

    องค์การอนามัยโลกบอกว่า ถ้าไม่รู้ตัวเลขเสียชีวิตจริง ๆ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาโรคระบาดให้ดีขึ้นได้ในการระบาดครั้งต่อไป 

    ดังนั้นแม้ตัวเลขติดเชื้อและเสียชีวิตจะลดลงแล้ว แต่เมื่อจำนวนตายเกินปกติยังสูงอยู่มาก

    ขอให้สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ กักตัวเมื่อมีอาการ อยู่ห่างกลุ่มคน ทำงานและประชุมออนไลน์ ให้คิดเสมอว่าทุกคนกำลังแจกเชื้อให้เรา และเราก็อาจกำลังแจกเชื้อให้คนอื่น 

    เพื่อจะได้ไม่ไปร่วมสถิติเสียชีวิตส่วนเกิน

     


วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

โอมิครอนทั้งผสมพันธุ์ทั้งกลายพันธุ์ยั้วเยี้ยไปหมดแย้ว

โอมิครอนดั่งเดิม จากทวีปแอฟริกา อาจเรียกเป็นสายพันธุ์ BA.1 ซึ่งแพร่กระจายรวดเร็วกว่า Delta มาก จนติดเชื้อเร็วกว่ากลายเป็นแทนที่สายพันธุ์ Delta ทั้งหมด  แต่ว่ากันว่าร้ายแรงน้อยกว่า Delta ซึ่งเห็นว่าร้ายแรงที่สุด เพราะป่วยหนักและตาย ในสัดส่วนน้อยกว่า  แต่ถ้านับจำนวนตายจาก Omicron จริง ๆ ตายรวมเยอะกว่า Deltaไปมากแล้ว

อันที่จริงไม่น่าจะเปรียบเทียบกันได้ เพราะช่วง Delta ระบาดยังฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่แต่ช่วง Omicron ระบาดนั้น ฉีดวัคซีนกันมากกว่า 70-80%  แล้ว

ช่วงที่มีทั้ง Delta และ Omicron ระบาดอยู่ด้วยกัน ก็ดันมีคนติดเชื้อทั้งสองสายพันธุ์ แล้วเกิดผสมพันธุ์ (Hybrid หรือ Recombination เนื่องจากสองสายพันธุ์เข้าไปติดเชื้อในเซลล์เดียวกัน แล้วผสมรหัสกรรมพันธุ์กัน ซึ่งจะเร็วกว่าการกลายพันธุ์หรือ mutation ที่เกิดจากการแบ่งตัวผิดพลาดทำให้รหัสพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม) เกิดเป็นพันธุ์ผสม ที่มีทั้งส่วน Delta และ Omicron ที่เรียกว่า XD และ XF เหมือนพี่น้องที่ไม่ใช่ฝาแฝดกัน ส่วนพันธุกรรมจึงต่างกันบ้าง 

ในนิวซีแลนด์ BA.1 ได้กลายพันธุ์เป็น BA.1.1 แต่ระบาดในวงจำกัด

ยังมีการกลายพันธุ์ เป็น BA.2 (Stealth Omicron: ล่องหน) ที่ยิ่งแพร่กระจายเร็วกว่า BA.1 เสียอีก เลยติดเชื้อเร็วกว่ากลายเป็นแทนที่ BA.1 ทั้งหมด ในฮ่องกง BA.2 กลายพันธุ์เป็น BA.2.2 ทำให้เสียชีวิตมากมาย แต่ระบาดในวงจำกัด

ช่วงที่มีทั้ง Omicron BA.1 และ Omicron BA.2 ระบาดอยู่ด้วยกัน ก็ดันมีคนติดเชื้อทั้งสองสายพันธุ์ย่อย ในอังกฤษ แล้วเกิดผสมพันธุ์ เป็นพันธุ์ผสม ที่มีทั้งส่วน BA.1 และ BA.2 ที่เรียกว่า XE ปรากฎว่า XE สามารถแพร่กระจายเร็วกว่า BA.2 ไปอีก 10-20%

แล้วยังมีสายพันธุ์ BA.3 อีก แต่ตัวนี้ไม่ค่อยมีบทบาท เพราะแพร่กระจายไปน้อย

ในทวีปแอฟริกา Omicron กลายพันธุ์เป็น BA.4 และ BA.5 ซึ่งติดเชื้อเร็วกว่าจนกลายเป็นทดแทน BA.1 จนหมดแล้ว

ในสหรัฐอเมริกา BA.2 ที่ติดเชื้อเร็วกว่าจนแทนที่ BA.1 ทั้งหมดแล้ว กลายพันธุ์เป็น BA.2.12.1 ซึ่งว่ากันว่าระบาดเร็วกว่า BA.2 ถึง 25% และกำลังจะแทนที่ BA.2 แล้ว

ทั้งนี้ WHO ได้จัดให้ Omicron BA.1, BA.2, BA.3, BA.4, BA.5 และ XE เป็น Variant of Concern คือสายพันธุ์ที่ต้องกังวล 

เห็นหรือยังว่า Omicron ทั้งผสมพันธุ์ทั้งกลายพันธุ์ยั้วเยี้ยไปหมด แม้ว่าจะบอกว่าร้ายแรงไม่เท่า Delta ก็ตาม แต่ก็ทำให้ตายรวมเกินหน้าไปไกล เพราะติดเชื้อกันเยอะมาก 

ที่สำคัญคือ เคยฉีดวัคซีน หรือเคยติดเชื้อ ก็ยังคงติดแล้วติดอีก

มาช่วยกันประนาม เจ้าไวรัส สำส่อน ที่ก่อความเดือดร้อนไปทั่วตัวนี้กันเถอะ

แต่ยังคงต้องป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ อยู่ห่างกัน ทำงานและประชุมออนไลน์กันอย่างเคร่งครัดต่อไปอยู่ดี

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ATK ที่ตรวจพบโอมิครอนได้ ในบ้านเรา

ดูเหมือนว่า สำหรับโรคโควิด จะต้องดูแลตัวเองมากขึ้นแล้ว จะรู้ได้ยังไงว่า ในบ้านเรา ATK ตัวไหนตรวจ Omicron เชื่อถือได้

สัปดาห์ที่ผ่านมา FDA ของสหรัฐอเมริกา อนุมัติการใช้งานชุดตรวจ สำหรับการตรวจเชื้อโอมิค
รอนเองที่บ้านโดยเฉพาะแบบฉุกเฉิน ทั้งหมด 19 ตัว หลังมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสามารถตรวจหาเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ ซึ่งใน 19 ตัวนี้พบว่าในประเทศไทย มีทั้งหมดเพียง 2 ตัว จากทั้งหมด 290
ตัว ที่ออก อย. ได้อนุมัติให้ใช้ได้ในประเทศไทย 2 ตัวนั้นคือ

 1  Flowflex COVID-18 Antigen Home Test ให้ใช้ในคนที่มีอาการในระยะเวลา 7 วัน และผู้ที่ไม่มีอาการแต่ตรวจเป็นระยะเพื่อเฝ้าระวังคัดกรอง โดยตรวจ 2 ครั้งภายใน 3 วัน ทั้งนี้ให้ใช้ตรวจด้วยตนเองใน คนอายุ 14 ปีขึ้นไป และ 2-13 ปี ต้องให้ผู้ใหญ่เก็บตัวอย่างให้

 2 Rapid SARS-CoV-2 Antigen Test Card ให้ให้ใช้ในคนที่มีอาการในระยะเวลา 6 วัน โดยตรวจ 2 ครั้งภายใน 3 วัน และผู้ที่ไม่มีอาการแต่ตรวจเป็นระยะเพื่อเฝ้าระวังคัดกรอง โดยตรวจ 2 ครั้งภายใน 3 วัน ทั้งนี้ให้ใช้ตรวจด้วยตนเองใน คนอายุ 14 ปีขึ้นไป และ 2-13 ปี ต้องให้ผู้ใหญ่เก็บตัวอย่างให้

ที่เหลือยังไม่มีการอนุมัติในประเทศไทย 

ทั้งนี้ประเทศไทยไม่ได้มีการติดตามประเมินชุดตรวจที่ขายกันในท้องตลาด

และยังมีงานวิจัยแสดงผลว่า ผู้ติดเชื้อหลังกักตัว 5-10 วันแล้ว ยังมีบางคนที่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ การตรวจด้วย ATK 2 ครั้งภายใน 3 วัน ก่อนหยุดกักตัว จะทำให้ป้องกันการแพร่กระจายได้ดีกว่า

อย่าลืมสวมหน้ากาก ล้างมือให้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม รวมทั้งทำงานและประชุมออนไลน์ จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้

อยากเขียน แต่ต้องทำงานสำคัญ

เขียนนิยายค้างไว้ กำลังสนุกกับการเขียน ยังไม่ทันเขียนต่อ งานสำคัญก็โถมกระหน่ำเข้ามา แย่งเวลาเขียนนิยาย เวลาพักผ่อน เวลาอื่น ๆ ไปจนหมด  เสียด...